พระพุทธไสยาสน์ภูค่าว

พระพุทธไสยาสน์ภูค่าว (๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๐) บ้านนาสีนวล ต.โนนศิลา อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์
วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว)
“ค่าว” เป็นภาษาอีสานแปลว่า เชือก เพราะวัดนี้ตั้งอยู่บนภูเขาที่มีลักษณะยาวเหมือนเชือก ทางอีสานจึงเรียกว่า เชือกค่าว จึงเป็นที่มาของวัดนี้ วัดนี้ตั้งอยู่ที่บ้านนาสีนวล ตำบลสหัสขันธ์ ห่างจากตัวอำเภอสหัสขันธ์ประมาณ 7 กิโลเมตร และห่างจากภูสิงห์ประมาณ 4 กิโลเมตร

พระพุทธไสยาสน์ตะแคงซ้ายโดยเป็นปูชนียวัตถุโบราณแห่งแรกของ จ.กาฬสินธุ์ ที่กรมศิลปากรรับจดขึ้นทะเบียน หลังจากที่ "สมเด็จพระมหาวีรวงษ์" (อ้วน ติสฺสมหาเถร) อดีตปฐมสังฆนายกแห่งคณะสงฆ์ไทย วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ได้มากราบพระไสยาสน์องค์นี้ เมื่อ พ.ศ.2484 มีบัญชาให้อธิบดีกรมศิลปากร จดทะเบียนไว้

โดยองค์พระไสยาสน์ มีความยาว 2 เมตร กว้าง 50 เซนติเมตร ตำแหน่งที่ประทับอยู่หน้าปากถ้ำกว้างประมาณ 5 เมตร สูงจากพื้นระดับเพดานถ้ำประมาณ 3 เมตร ลานด้านหน้าองค์พระกว้างประมาณ 10 เมตร และที่แปลกอย่างที่กล่าวไว้คือ พระไสยาสน์องค์นี้ตะแคงซ้าย ผู้รู้ได้สันนิษฐานว่า เป็นสัญลักษณ์ของ "พระมหาโมคคัลลานะเถรเจ้า" พระอัครสาวกเบื้องซ้ายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในช่วงประเพณีสงกรานต์จะแห่แหนไปสรงน้ำขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องเพราะพระพุทธไสยาสน์องค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นตำนานเล่าขาน

ตำนานเล่าขานว่า
ครั้งเมื่อพระเจ้าศรีโคตรบูรณ์หรือพระยาขอม ประมาณปี พ.ศ.8 มีพระมหากัสสปเถรเจ้าเป็นองค์ประธาน พรั่งพร้อมด้วยพระอรหันต์ขีณาสพ 500 องค์ ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) ขององค์พระพุทธเจ้า เสด็จมาโดยทางญาณวิถีนภากาศ (เหาะมาทางอากาศ) ลงสู่ "ภูกำพร้า" วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้พร้อมใจกันสร้างอุโมงค์ โดยเอาดินดิบมาก่อเรียงกันขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม เสร็จแล้วเอาไฟเผาให้สุก มีประตูปิดเปิดได้ทั้ง 4 ด้าน สูงประมาณ 5 เมตร เมื่อเสร็จและกระทำพิธีฐาปนา (บรรจุ) พระอุรังคธาตุไว้ในอุโมงค์นั้น และให้ชื่อว่า "พระธาตุพนม" จากนั้นพระมหากัสสปเถรเจ้า พร้อมด้วยหมู่พระอรหันต์ขีณาสพ 500 องค์ ก็เสด็จกลับสู่กรุงราชคฤห์ในชมพูทวีป

พระเจ้าศรีโคตรบูรณ์จึงได้จัดให้มีการสมโภชองค์พระธาตุพนมอย่างยิ่งใหญ่ จึงได้มีสารบอกไปทางหัวเมืองขอมด้านเขมรต่ำที่เป็นเมืองขึ้น ว่าให้รวบรวมทรัพย์สมบัติอันมีค่า ขึ้นมาทำการสมโภชพระธาตุพนมด้วยกัน ซึ่งทางเขมรต่ำก็ได้รับคำทำตามสารบอกนั้น โดยได้แต่งตั้งผู้มีความสามารถคนหนึ่งชื่อ "นายสา" เป็นหัวหน้าคณะ ทำหน้าที่ควบคุมพรรคพวกและทรัพย์สมบัติ เดินทางขึ้นมาทางเมืองร้อยเอ็ด

การเดินทางของคณะนายสา ได้รอนแรมมาตามระยะทางที่แสนลำบาก ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะมุ่งสู่องค์พระธาตุพนมให้จงได้ ครั้นเดินทางมาถึงบ่อน้ำซับคำม่วง (บ่อคำม่วง) ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของภูค่าวไม่ไกล ขณะที่พักแรมอยู่นี่เอง ก็ได้ทราบข่าวว่าการสมโภชองค์พระธาตุพนมได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้นายสากับพรรคพวก จึงได้ปรึกษากันว่า บรรดาทรัพย์สมบัติที่ขนกันมานี้จะทำประการใด ถ้าจะขนกลับไปก็ดูจะไม่สมควร ทั้งการเดินทางก็สุดแสนลำบากยากยิ่งและแสนไกล ในที่สุดก็ได้ลงความเห็นกันว่า น่าจะฝังทรัพย์สมบัติเหล่านี้ไว้ จึงได้ลงมือแกะสลักรูปองค์พระอรหันต์ขีณาสพพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า อัครสาวกเบื้องซ้ายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยให้มีลักษณะในอิริยาบถไสยาสน์ตะแคงซ้าย หันเศียรไปทางด้านที่พระธาตุพนมตั้งอยู่ คือด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และถือเป็นนิมิตมงคลว่า พระธาตุพนมนั้น เป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า ที่เสด็จประทับอยู่ด้านทิศที่เศียรพระไสยาสน์หันไป พร้อมได้ฝากคำปริศนา ให้ผู้คนรุ่นต่อมาเข้าใจว่าเป็นลายแทงแหล่งสมบัติที่ว่า "พระหลงหมู่อยู่ภูถ้ำบก แสงตาตกมีเงิน 7 แสน คำ 7 แสน ไผหาได้กินทานหาแหน่ เหลือจากนั้นกินเลี้ยงบ่หลอ"

เพราะเชื่อว่าบริเวณที่พระไสยาสน์ประทับอยู่จะมีทรัพย์สมบัติมากมายฝังอยู่ คำบอกเล่าระบุว่ามีคนเข้าไปขุดค้นหาจำนวนมากแต่สุดท้ายกลุ่มคนผู้นั้นก็จะมีอันเป็นไปทุกราย จนทำชาวบ้านทั้งใกล้และไกล ต่างมีความเลื่อมใสศรัทธามาสักการะอธิษฐาน ขอความเป็นสิริมงคลมิได้ขาด

บทความโดย : บ้านแสนสุข
ภาพโดย : HaMAO Sunny

อัลบั้มภาพ พระพุทธไสยาสน์ภูค่าว (๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๐)

แผนที่การเดินทางไป พระพุทธไสยาสน์ภูค่าว บ้านนาสีนวล ต.โนนศิลา อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์