เดินชมทุ่งหลังวัดสัมพันธมิตร

เดินชมทุ่งหลังวัดสัมพันธมิตร (๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๑) บ้านสัมพันธ์ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
ตะโกนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros rhodocalyx Kurz. จัดอยู่ในวงศ์ EBENACEAE เช่นเดียวกับมะพลับ สมุนไพรตะโกนา ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกว่า มะถ่านไฟผี (เชียงใหม่), นมงัว (นครราชสีมา), ตะโก มะโก พญาช้างดำ พระยาช้างดำ (ภาคเหนือ), โก (ภาคอีสาน), ตองโก (เขมร) เป็นต้น

ลักษณะของตะโกนา
ต้นตะโกนา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก รูปทรงพุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีดำ แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ดหนา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักเนื่องจากเติบโตได้ช้า) การตอนกิ่ง หรือการขุดล้อมเอามาจากธรรมชาติ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการแสงแดดแบบเต็มวัน มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี โดยพบว่ามีเขตการกระจายพันธุ์จากพม่าจนถึงภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบขึ้นได้ทุกภาคตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าละเมาะ และตามทุ่งนา ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 40-300 เมตร

ผลตะโกนา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.4 เซนติเมตร (บ้างว่าประมาณ 3 เซนติเมตร) ผิวผลเรียบ ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุมอยู่หนาแน่น ซึ่งขนเหล่านี้มักหลุดร่วงได้ง่าย ส่วนปลายผลและโคนผลมักบุ๋ม กลีบจุกผลชี้ออกหรือแนบลู่ไปตามผิวของผล ข้างในมีขนสีน้ำตาลแดงและมีขนนุ่มทางด้านนอกพื้นกลีบและขอบกลีบมักเป็นคลื่น เส้นสายกลีบพอเห็นได้ชัดผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือแดงปนส้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่รีหรือแบน เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีเนื้อหุ้มสีขาวและฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลสั้นมาก มีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วง เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน

สรรพคุณของตะโกนา
1.เปลือกต้นหรือแก่นใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้มีอายุยืนยาว (แก่น,เปลือกต้น) ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นตะโกนา เถาบอระเพ็ด ผสมกับเปลือกทิ้งถ่อน เมล็ดข่อ ผลพริกไทยแห้ง และหัวแห้วหมู อย่างละเท่ากันนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือดองกับเหล้าดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)
2.แก่นใช่ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น,เปลือกต้น)
3.เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นชาช่วยบำรุงกำลัง (แก่น,เปลือกต้น) บำรุงร่างกาย (เปลือก)
4.ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือก)
5.แก่นและเปลือกใช้เข้ายารักษามะเร็ง (แก่น,เปลือก)
6.ผลนำมาตากแดด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย (ผล) บ้างว่าใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
7.ช่วยแก้โรคผอมแห้งหลังการคลอดบุตรเนื่องมาจากอยู่ไฟไม่ได้ (ราก)
8.ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ (ผล) แก้อาเจียนเป็นโลหิต (ผล)
9.ต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (ต้น)
10.ราก ต้นและแก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้กลับ ไขซ้ำ จากการกินของแสลงที่เป็นพิษ (ราก,ต้น,แก่น)
11.ช่วยแก้พิษผิดสำแดง (ต้น)
12.เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นชาช่วยแก้อาการร้อนในได้ (เปลือกต้น) บ้างว่าใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
13.เปลือกต้นหรือแก่นนำมาต้มกับเกลือใช้อมรักษาโรครำมะนาด หรือ โรคปริทันต์ (โรคที่มีอาการอักเสบของอวัยวะรอบๆ ฟัน) (แก่น,เปลือกต้น)
14.เปลือกต้นหรือแก่นนำมาต้มกับเกลือใช้อมแก้อาการปวดฟัน (แก่น,เปลือกต้น)
15.ผลมีรสฝาดหวาน สรรพคุณช่วยแก้อาการมวนท้อง (ผล)
16.ผลเอามาตากแดด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย (ผล) ส่วนเปลือกผลใช้แก้อาการท้องร่วง (เปลือกผล) แก้บิดบวมเป่ง (ผล)
17.ช่วยขับน้ำย่อย ช่วยในการย่อยอาหาร (แก่น,เปลือกต้น)
18.ใช้เป็นยาแก้พยาธิ ขับพยาธิ (ใช้ผลต้มกับน้ำดื่ม)
19.เปลือกผลนำมาเผาจนเป็นถ่าน ใช้แช่กับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกผล เปลือกต้น, แก่น)
20.แก่นหรือเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคกามตายด้าน บำรุงความกำหนัด เพิ่มพลังทางเพศ กระตุ้นร่างกายให้สดชื่นแข็งแรง (แก่น,เปลือกต้น)
21.เปลือกผลนำมาเผาจนเป็นถ่าน ใช้แช่กับน้ำกินเป็นยาขับระดูขาวของสตรี ส่วนเปลือกต้นหรือแก่นก็มีสรรพคุณขับมุตกิดระดูขาวได้ด้วยเช่นกัน (แก่น,เปลือกต้น,เปลือกผล) บ้างว่าผลก็มีสรรพคุณเป็นยาขับระดูขาวเช่นกัน (ผล)
22.ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดมดลูก (ผล)
23.แก้ตกเลือด (ผล)
24.รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไตพิการ น้ำเหลืองเสีย (ราก)
25.ผลใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง (ผล)
26.ต้นมีสรรพคุณช่วยแก้ผื่นคัน (ต้น) ผลช่วยแก้ตุ่มคันเป็นเม็ดผื่นคันตามตัว (ผล)
27.ผลใช้เป็นยาเย็นถอนพิษ (ผล)
28.ผลใช้เป็นยาแก้แผล สมานแผล ช่วยแก้แผลเน่าเปื่อย ฝีเน่าเปื่อย ช่วยปิดธาตุ (ผล)
29.ช่วยแก้บวม ฝีบวม (ผล)
30.รากตะโกนาใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้โรคเหน็บชา อาการปวดเมื่อย อ่อนเพลีย (ราก) ส่วนตำรับยาพื้นบ้านของอีสานนั้นจะใช้รากตะโกผสมกับรากมะเฟืองเปรี้ยว รากเครือปลาสงแดง และรากตีนนก นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย
31.รากและต้นมีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก,ต้น)

บทความโดย : frynn.com
ภาพโดย : HaMAO Sunny

อัลบั้มภาพ เดินชมทุ่งหลังวัดสัมพันธมิตร (๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๑)

แผนที่การเดินทางไป เดินชมทุ่งหลังวัดสัมพันธมิตร บ้านสัมพันธ์ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ