แคนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Dolichandrone serrulata (DC.) Seem. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Stereospermum serrulatua DC.) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าแคนานั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dolichandrone rpathacea Schum และมีชื่อสามัญว่า D.longissima Schum, D.rheedii Seem. โดยแคนานั้นจัดอยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE เช่นเดียวกับแคหางค่าง แคทะเล แคแสด แคหัวหมู น้ำเต้าต้น ปีบ เพกา รุ่งอรุณ และไส้กรอกแอฟริกา เป็นต้น แคนายังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีก เช่น แคขาว แคเก็ตวา แคเก็ตถวา แคเค็ตถวา (เชียงใหม่), แคภูฮ่อ (ลำปาง), แคป่า (เลย, ลำปาง), แคทราย (นครราชสีมา), แคยาว แคอาว (ปราจีนบุรี), แคยอดดำ (สุราษฎร์ธานี), แคตุ้ย แคแน แคฝา แคฝอย แคหยุยฮ่อ แคแหนแห้ (ภาคเหนือ), แคนา (ภาคกลาง) เป็นต้น ต้นแคนา มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศลาว พม่า เวียดนาม และในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคกลาง โดยอาจจะได้ประปรายในป่าเบญจพรรณ และพบได้บ่อยตามนาข้าวทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 300 เมตร ลักษณะของแคนา ต้นแคนา หรือ ต้นแคป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของลำต้นได้ถึง 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมสีเทา และอาจมีจุดดำประ ผิวต้นเรียบหรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็กๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำราก โดยสามารถพบต้นแคนาได้ตามป่า ตามทุ่ง ตามไร่น่า และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ดอกแคนา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้น ดอกมีขนาดใหญ่ ลักษณะของดอกเป็นรูปแตรสีขาว โดยจะออกดอกตามปลายกิ่ง ดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1.8-4 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมีดอกอยู่ประมาณ 2-10 ดอก กลีบเลี้ยงหนาและเหนียว ปลายเรียวเล็กและโค้งยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร หุ้มดอกตูมมิด เชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งปลายแหลม เมื่อดอกบานจะมีรอยแตกทางด้านล่าง มีลักษณะเป็นกาบหุ้มกลีบดอกติดกันเป็นท่อ ส่วนปลายขยายออกเป็นรูประฆัง และจะแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ 16-18 เซนติเมตร ส่วนหลอดกลีบดอกจะยาวประมาณ 13-14 เซนติเมตร ส่วนโคนจะแคบเป็นหลอด สีเขียวอ่อน ส่วนบนจะบานออกคล้ายกรวยเป็นสีขาวแกมสีขมพู แฉกกลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ที่ขอบกลีบจะย่นเป็นคลื่นๆ ดอกเป็นสีขาว ดอกตูมเป็นสีเขียวอ่อนๆ โคนกลีบมีสีน้ำตาลปน ดอกมีเกสรตัวผู้ 4 อัน ติดอยู่ด้านในของท่อกลีบดอก ปลายแยก มีขนาดสั้น 2 อัน และยาว 2 อัน และยังมีเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันอีก 1 อัน มีรูปร่างเป็นเส้นเรียวเล็กคล้ายเส้นด้ายมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนอับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นสีเทาดำ และจานฐานดอกเป็นรูปเบาะ เป็นพูตื้นๆ และมีเกสรตัวเมียอยู่ 1 อัน โดยดอกแคนาจะค่อยๆ บานทีละดอก ดอกมีกลิ่นหอม ดอกบานในตอนกลางคืน และจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ประโยชน์ของแคนา 1.ดอกแคนาสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ โดยนำมาทำเป็นแกงส้ม หรือจะนำดอกมาลวก หรือต้มจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน 2.รสขมของดอกแคนาจะช่วยทำให้รับปะทานอาหารอร่อยยิ่งขึ้น 3.ต้นแคนาเป็นต้นไม้ทรงพุ่ม ใบและฝักแลดูสวยงาม เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้สำหรับให้ร่มเงาและเป็นไม้ประดับเสริมจุดเด่นให้สวนที่ปลูกได้ 4.ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย (ข้อมูลไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนไหน แต่เข้าใจว่าเป็นดอก) 5.เนื้อไม้ของต้นแคนาสามารถนำมาใช้ทำสิ่งก่อสร้างอาหารบ้านเรือนได้ เช่น ทำเป็นเสา ไม้กระดาน ฝาเพด้าน พื้น ฯลฯ
ภาพโดย : HaMAO Sunny
|
แผนที่การเดินทางไป เก็บดอกแคป่ากับยาย ทุ่งนาบ้านสัมพันธ์ จ.ชัยภูมิ |